ZERO BREAKDOWNZero breakdown หรือเครื่องจักรเสียเป็นศูนย์ เป็นความพยายามอย่างหนึ่งควบคู่ไปกับความพยายามให้ของเสียเป็นศูนย์ (Zero defect) และอุบัติเหตุเป็นศูนย์ (Zero accident) ในการดำเนินกิจกรรม TPM ซึ่ง Zero breakdown นี้ต้องอาศัยความสัมฤทธิผลของเสาหลัก 3 ประการใน TPM ได้แก่ การปรับปรุงเฉพาะเรื่อง (Individual Improvement) การบำรุงรักษาด้วยตนเอง (Autonomous Maintenance) และ การบำรุงรักษาตามแผน (Planned Maintenance) โดยทั้ง 3 เสาหลักนี้จะทำหน้าที่ของตนเองโดยมีเครื่องมือต่างๆ (Tools) เป็นสิ่งช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก การปรับปรุงเฉพาะเรื่อง จะทำหน้าที่ในลักษณะทีมเฉพาะกิจ เพื่อหาสาเหตุแท้จริง (Root cause) ที่ทำให้เครื่องจักรเสียและเสื่อมสภาพ ทั้งที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน (Sporadic loss) และเกิดขึ้นแบบเรื้อรัง (Chronic loss) ทั้งนี้เพื่อหาทางกำจัดและป้องกันต่อไป เครื่องมือที่ใช้คือเครื่องมือจำพวกแก้ปัญหาการปรับปรุง (Kaizen problem) เช่น Why-why analysis, 7QC Tools, P-M analysis, Kaizen suggestion การบำรุงรักษาด้วยตนเอง จะทำหน้าที่ในการใช้เครื่องจักรอย่างถูกต้องระมัดระวัง และบำรุงรักษา ตามขอบเขตความรับผิดชอบที่พึงกระทำ เครื่องมือที่ใช้คือเครื่องมือจำพวกแก้ปัญหาการควบคุม (Control problem) เช่น มาตรฐานการทำงานประเภทต่างๆ การควบคุมด้วยการมองเห็น (Visual Control) การป้องกันความผิดพลาดการบำรุงรักษาตามแผน จะทำหน้าที่ในส่วนที่เกินกว่าผู้ใช้เครื่องผู้ซึ่งมีหน้าที่หลักคือการผลิต จะสามารถทำได้ ทั้งในแง่ของเวลาและความสามารถ หน้าที่ดังกล่าวได้แก่ หน้าที่ในการหยุดความเสียหายและเสื่อมสภาพของเครื่องจักร หน้าที่ในการป้องกันความเสียหายและเสื่อมสภาพของเครื่องจักร หน้าที่ในการเตรียมพร้อมหากเครื่องจักรเกิดเสียหาย หน้าที่ในการปรับปรุงเครื่องจักรให้ดูแลรักษาได้ง่าย และหน้าที่ในการบริหารงานซ่อมบำรุงทั่วไป โดยหน้าที่ทั้งหมดต้องถูกรวบรวมและจัดทำเป็นแผนปฏิบัติงานประจำปีของฝ่าย ซ่อมบำรุง เครื่องมือที่ใช้คือเครื่องมือจำพวกตรวจจับและวัดความผิดปกติเพื่อการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ (Predictive Maintenance Tools) และเครื่องมือจำพวกการวางแผนและบริหารโครงการเช่น การหาสายงานวิกฤต การจัดลำดับงาน การมอบหมายงานเป็นต้น